สิทธิประโยชน์ประกันลดหย่อนภาษี
ใกล้ช่วงสิ้นปีแบบนี้ หลาย ๆ คนกำลังมองหาประกันที่ให้ความคุ้มครองทั้งชีวิตและยังได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษี แล้วรู้หรือไม่ ประกันแบบไหนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้?
ปัจจุบันกรมสรรพากรมีนโยบายให้ผู้เสียภาษีสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้ ดังนี้
1. ประกันชีวิตทั่วไปและประกันแบบสะสมทรัพย์ สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และกรมธรรม์ต้องมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป โดยหากมีผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี (ไม่รวมเงิน
ปันผลตามกรมธรรม์) ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
หมายเหตุ หากในปีภาษีนั้น ๆ คู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้สูงสูด 10,000 บาท
2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และค่าลดหย่อนเมื่อรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF แล้ว
ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
3. ประกันสุขภาพตนเอง สำหรับประกันสุขภาพและเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพของตัวผู้เสียภาษีเอง สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท โดยเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วและประกันแบบสะสมทรัพย์แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4. ประกันสุขภาพบิดามารดา สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ทั้งบิดามารดาของตนเอง และคู่สมรส โดยจะได้สิทธิลดหย่อนตามจริง แต่เมื่อนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพรวมกันทั้งของบิดาและมารดา
ต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดาและมารดาจะต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
ข้อควรรู้
- สิทธิในการลดหย่อนจะถูกคำนวณจากเบี้ยที่จ่ายจริงในปีภาษีนั้น ๆ
- วางแผนการทำประกันให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุดจากการทำประกัน
- ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขกรมธรรม์ให้ดี เช่น การคืนเงิน การจ่ายผลประโยชน์ และระยะเวลาความคุ้มครอง เพื่อให้รู้เงื่อนไขของประกันที่เลือกว่าให้ความคุ้มครองอะไรบ้างและสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่ต้องการ
วางแผนลดหย่อนภาษีด้วยการทำประกัน นอกจากจะได้สิทธิประโยชน์และผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คือผลประโยชน์ที่ได้รับจากความคุ้มครองความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ป้องกันการสูญเสียเงินก้อนใหญ่และวางแผนการเงินให้มีความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย